หน่วยวิจัยปาล์มน้ำมัน ม.อ.สุราษฎร์ธานี ( 25 มกราคม พ.ศ.2555)

                                                

 หน่วยวิจัยปาล์มน้ำมัน ม.อ.สุราษฎร์ธานี  กับการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน  

       

        จากการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มีนโยบายในการส่งเสริมให้งานวิจัยมีทิศทางที่ ชัดเจน สามารถนำผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ทั้งการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม การสนับสนุนบัณฑิตศึกษา รวมทั้งการนำผลมาใช้ในการแก้ปัญหาพัฒนาชุมชนหรือสังคม  ซึ่งจากนโยบายดังกล่าว วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี โดย รศ.ดร.โอภาส พิมพา หัวหน้าหน่วยวิจัยปาล์มน้ำมัน ม.อ.สุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน  

       ปัจจุบันกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศของแต่ละประเทศย่อมมีแนวทางและวิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามทรัพยากร วัฒนธรรม และโอกาสของแต่ละประเทศ  การเกษตรกรรมถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะมนุษย์ต้องกิน ต้องอาศัยผลผลิตจากการเกษตรเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการดำรงชีวิต  การเกษตรของเมืองไทยมีจุดเด่นมาก  ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นการทำเกษตรแบบรายย่อย แต่มีความหลากหลายของกิจกรรมและมีการบริหารจัดการตามขนาดพื้นที่ตามศักยภาพของเกษตรกร  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ผลไม้ แม้กระทั่งปาล์มน้ำมัน รวมทั้งด้านปศุสัตว์ เรามีการพัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตามในสภาวะที่โลกมีทรัพยากรที่น้อยลงเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์เริ่มลดลง ในทางตรงกันข้ามประชากรมนุษย์กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงพื้นที่ต่อจำนวนประชากรย่อมลดลง ในข้อจำกัดนี้มนุษย์ย่อมต้องดิ้นรนหาแนวทาง หรือวิธีการดำเนินกิจการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยและแก้ปัญหาในข้อจำกัดดังกล่าว

         การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยจึงเป็นกิจกรรมเบื้องต้นที่จะนำผลไปใช้ในการถ่ายทอดหรือขยายผลสู่ชุมชน  เพื่อให้มีการทดลองใช้กับสภาวะจริงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จากงานวิจัยของ รศ.ดร.โอภาส พิมพา มีประเด็นการศึกษาวิจัยอยู่หลายส่วน ภายใต้หน่วยวิจัยปาล์มน้ำมัน ม.อ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งให้ความสนใจการวิจัยและพัฒนาระบบการเกษตรแบบรอบด้าน โดยคำนึงถึงสภาวะด้านสังคมเข้ามาคลอบคลุมงานด้านวิทยาศาสตร์ หลังการศึกษาวิจัย ดังนั้น  หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถูกน้อมนำมาเป็นแนวทางในการสร้างยุทธศาสตร์ กำหนดหัวข้อการศึกษาวิจัย เพื่อใช้กับเกษตรกรในพื้นที่ศึกษา เพื่อช่วยให้เกษตรกรเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยลดต้นทุนการผลิตแต่คงคุณภาพหรือเพิ่มคุณภาพของผลผลิตทั้งพืชและสัตว์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในจังหวัดสุราษฏร์ธานีไม่ได้หมายถึง การผลิตปาล์มน้ำมัน หรือยางพาราอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดในการเพิ่มรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้ด้วย กิจกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น

1.การศึกษาเพิ่มเติมองค์ความรู้ในการผลิตปาล์มน้ำมัน และอาชีพเสริมในระบบปลูกปาล์มน้ำมัน โดยใช้ทรัพยากรจากพื้นที่ ผลปาล์มน้ำมัน และผลพลอยได้จากปาล์มน้ำมัน

2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยใช้หลักการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์และผสมผสาน เข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น เกษตรกรเคยปลูกปาล์มน้ำมันและขายผลปาล์มน้ำมันได้อย่างเดียว  อาจมีการเลี้ยงโค เลี้ยงแพะในระบบ (แบบขังคอกหรือปล่อยในบางครั้ง) ตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเลี้ยงหมูหลุม และใช้มูลสัตว์ร่วมกับผลพลอยได้จากโรงงานปาล์มน้ำมันและสวนปาล์ม ในการผลิตปุ๋ยหมัก และผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งส่วนที่ผ่านการหมักจากบ่อก๊าซชีวภาพจะสามารถนำมาผลิตปุ๋ยชีวภาพได้อีกทางหนึ่ง หรือนำมาเลี้ยงไส้เดือนดิน ซึ่งผลจากการดำเนินการจะได้นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหมักไส้เดือนดิน ตัวไส้เดือน และมูลไส้เดือนกลับไปสู่สวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้

3.งานวิจัยการเลี้ยงโคและแพะในระบบการปลูกปาล์ม จะปลูกหญ้าระหว่างร่องแถวปาล์มน้ำมัน (ในช่วงที่ปาล์มมีอายุ 1-5 ปี) เมื่อปาล์มโตแล้วจะมีการตัดทางใบปาล์ม มาสับเป็นอาหารหยาบเลี้ยงโคได้โดยใช้การหมักร่วมกับกากน้ำตาล ซึ่งแพะสามารถใช้วิธีการแขวนทางใบปาล์มให้กินก็ได้

4. การเลี้ยงหมูหลุม เพื่อสร้างปุ๋ยมูลหมักสำหรับใส่ปาล์มน้ำมัน

5.การนำขี้เค้กและทะลายปาล์มเปล่าจากโรงงานปาล์มน้ำมันมาผลิตปุ๋ยหมัก การใช้ขี้เค้ก (Decanter Cake) กากปาล์มน้ำมันนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ ทั้งอาหารข้นและอาหารเสริม UMMB (Urea Molases Multinutrient Block) 

6.งานวิจัยการใช้มูลสัตว์ กากตะกอน ขี้เค้กจากโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันมาผลิตก๊าซชีวภาพ หรือผลพลอยได้จากสวนปาล์มน้ำมัน เช่น ทางใบปาล์มในการเป็นพลังงานชีวมวล

7.งานวิจัยเพื่อรองรับในกรณีปาล์มน้ำมันราคาลดลงมากจนเกษตรกรไม่สามารถขายได้ อาจมีการเพิ่มมูลค่า เช่น การสกัดน้ำมันปาล์มในชุมชนเพื่อผลิตไบโอดีเซล ผลิตอาหารสัตว์ และเพิ่มมูลค่าจากการแยกส่วนประกอบสำคัญ เช่น วิตามิน และแคโรทีนอย

8.การวิจัยแนวทางสร้างอาชีพหลายอย่างในระบบการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน ผลพลอยได้ในชุมชน เช่น ทางใบปาล์มอัดเม็ดสำหรับเป็นอาหารสัตว์ การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม การสร้างโรงแยกใยปาล์มจากทะลายและโรงแปรรูปเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน เป็นต้น โดยเน้นภาพลักษณ์ของชุมชนเป็นจุดขาย

9.งานวิจัยการใช้ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล คือ glycerin หรือการวิจัยใช้น้ำมันปาล์มดิบ มาผลิตไขมันไหลผ่านสำหรับเป็นอาหารเสริมสำหรับโคนม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมและไขมันในน้ำนม และลดปัญหาการผสมไม่ติดในช่วงที่ขาดแคลนอาหาร   

         10.งานวิจัยที่สร้างเครือข่ายด้านการเลี้ยงและการตลาดของกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนของจังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อเชื่อมต่อในระบบห่วงโซ่อุปทานระดับประเทศ

         นอกจากการวิจัยแล้ว ในส่วนงานบริการวิชาการที่เป็นวิทยากรบรรยายให้ ส.ป.ก.และสหกรณ์การเกษตร ตลอดทั้งกลุ่มชาวบ้าน และสหกรณ์นิคมในพื้นที่ ในส่วนของยุวชนได้ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนสุราษฏร์ธานี จัดอบรมเทคโนโลยีด้านปาล์มน้ำมันให้กับยุวเกษตรกรจากโรงเรียนมัธยมในพื้นที่ทุกปี  โดยพยายามเน้นให้ชาวบ้านและเยาวชน ตระหนักถึงภาวะที่เราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และเงื่อนไขใหม่ ๆ การแข่งขันทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น การกีดกันทางการค้าโดยมาตรการด้านคุณภาพ และความปลอดภัยต่อการบริโภค กฎเกณฑ์ต่างๆ ของต่างชาติ แนวทางในการแก้ปัญหาและสิ่งที่เราลืมไม่ได้คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

1.รู้จักความพอประมาณ ความพอดี โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด

2.ความมีเหตุผล การตัดสินใจ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล พิจารณาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เช่น วิธีการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน และการลดต้นทุนของเราที่เหมาะสม  เป็นต้น

3.มีภูมิคุ้มกันในตัวให้ดี มีการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับผลกระทบและเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งใกล้และไกล

 

ดังนั้น หัวข้องานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของหน่วยฯ ที่ผ่านมาจึงได้ดำเนินการภายใต้กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาในเบื้องต้น โดยมีการสร้างกลุ่มเกษตรกร สร้างเครือข่ายกับชุมชนและองค์กรในพื้นที่แบบร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา เพื่อสังคมที่ดีขึ้น และก่อรากฐานที่แข็งแรงสู่การพัฒนาประเทศ

    

 

ชาวบ้านและเกษตรกรคือฐานสำคัญของประเทศ  ความเข้มแข็งและมั่นคงของประเทศ เริ่มจากการพัฒนาชุมชน  โดยมี องค์ความรู้ สู่แนวการปฏิบัติ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม